14 มิถุนายน 2566

กิจกรรมและโครงการ

7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

14 มิถุนายน 2566

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังจะตั้งโรงงาน สิ่งที่จะต้องรู้ก็คือการขออนุญาตตั้งโรงงานและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยในปัจจุบันตาม พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2562 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้การประกอบกิจการโรงงานได้รับความสะดวกและมีความคล่องตัวขึ้น โดยโรงงานขนาดเล็กจะประกอบกิจการง่ายขึ้น โรงงานขนาดใหญ่จะได้รับความสะดวกมากขึ้นค่ะ

ในวันนี้เราจะมาพูดถึงความหมายและประเภทของโรงงาน รวมถึงการขออนุญาตตั้งโรงงานและการขอใบอนุญาตโรงงาน หรือใบ รง. 4 ตามที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไปดูกันค่ะว่าการขอใบอนุญาตโรงงาน (ใบ รง. 4) ตามพ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ จะมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรกับ 7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับการขออนุญาตตั้งโรงงานและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ได้ที่ บทความ 9 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ คลิ๊ก! หรืออ่าน พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2562 ฉบับเต็ม คลิ๊กที่นี่ค่ะ

 

7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับการขออนุญาตตั้งโรงงานและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

1. “โรงงาน” คืออะไร

ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โรงงานคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของ “โรงงาน” ตาม พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่กันก่อนค่ะ พ.ร.บ. โรงงานฉบับนี้ได้เปลี่ยนขอบเขตความหมาย “โรงงาน” จากเดิมต้องมีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น มีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานมากว่า 50 คน เพราะฉะนั้นหากจำนวนแรงม้ารวมของเครื่องจักรน้อยกว่า 50 แรงม้าและจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน จะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน

ดังนั้น “โรงงาน” จึงหมายถึงคือ อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงาน 50 คน ขึ้นไป สำหรับ ทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ

 

2. ทำไมต้องขออนุญาตตั้งโรงงาน

ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทำไมต้องขออนุญาต

การใช้สถานที่เพื่อตั้งเป็นโรงงาน ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทางการ เพื่อให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้การควบคุมไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ ทำให้การขออนุญาตตั้งโรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยประเภทโรงงานที่ต้องทำการแจ้งประกอบกิจการหรือขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน คือโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาดตั้ง 50 แรงม้า หรือหรือคนงาน 50 คน ขึ้นไป ซึ่งจะต้องดำเนินตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ค่ะ

 

3. รู้จักกับประเภทของโรงงานที่ต้องขออนุญาตตั้งโรงงาน

ประเภทของโรงงาน ร.ง.4

ประเภทของโรงงานได้มีการแบ่งตามจำนวนขนาดแรงม้าของเครื่องจักรทั้งหมด จำนวนคนงาน และตามชนิดของโรงงาน โดยล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563  มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาค่ะ เนื้อหาในกฎกระทรวงฉบับนี้นั้นได้กำหนดให้จำแนกโรงงานตามจำพวกดังต่อไปนี้

  • โรงงานจำพวกที่ 1 จะไม่ขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของเครื่องจักรหรือจำนวนคนงาน แต่จะขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงาน ซึ่งได้แก่ โรงงานการฟักไข่โดยใช้ตู้อบทุกขนาด โรงงานทำน้ำตาลจากมะพร้าว โรงงานซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนังทุกขนาด โรงงานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือไฟฟ้า โรงงานล้างรถยนต์ โรงงานซ่อมนาฬิกาหรือเครื่องประดับ โรงงาน โรงงานลงรักหรือประดับตกแต่งด้วยแก้ว มุก กระจก ทองหรืออัญมณี กำหนดให้โรงงานที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นโรงงานจำพวกที่ 1 
  • โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ที่มีเครื่องจักรขนาดมากกว่า 50 แรงม้า แต่ไม่เกิน 75 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน แต่ไม่เกิน 75 คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานด้วยนะคะ เพราะตามกฏกระทรวงฉบับนี้มีโรงงานหลายประเภทด้วยกันที่ถูกจำแนกเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนแรงม้าหรือจำนวนคนงานค่ะ
  • โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ที่มีเครื่องจักรขนาดมากกว่า 75  แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 75 คน โดยใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับจะเรียกว่าใบ รง. 4 ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีโรงงานหลายประเภทด้วยกันที่ถูกจำแนกเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนแรงม้าหรือจำนวนคนงาน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชและสัตว์ โรงงานผลิตแอลกอฮอร์ โรงงานฟอกย้อมสี โรงงานเกี่ยวกับไม้ เป็นต้น

 

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน โดยละเอียดได้จาก กฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/062/T_0013.PDF 

ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร (02)-202-4000 หรือ https://www.diw.go.th/

 

 4. เงื่อนไขการขออนุญาตตั้งโรงงานและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

 เงื่อนไขการขออนุญาต ร.ง.4

  • สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ก่อนดำเนินกิจการ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนเริ่มดำเนินงานประกอบกิจการ เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเสียก่อน
  • สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 จะต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก่อนประกอบกิจการ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับจะเรียกว่าใบ ร.ง.4 ค่ะ

 

 5. .. 4 คืออะไร?

ใบอนุญาต ร.ง.4 คืออะไร

ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) คือใบอนุญาตที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกให้สำหรับโรงงาน ประเภทที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานได้ โดยเป็นโรงงานที่มี เครื่องจักรมากกว่า 75  แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 75 คน ในปัจจบันตาม พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง. 4 นั้นไม่มีหมดอายุ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการต่ออายุของใบ ร.ง. 4 ค่ะ แต่ยังคงต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมโรงงงานรายปีตามกำลังแรงม้าที่ใช้นะคะ

 

 6. วิธีการและเอกสารในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

เอกสารขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 นั้น แนะนำให้ท่านติดต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามแต่เขตจังหวัดที่โรงงานของท่านตั้งอยู่เพื่อทำการข้อคำแนะนำเพิ่มเติมด้านเอกสารและวิธีการดำเนินการขอ เพื่อความราบรื่นในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆค่ะ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการจัดเตรียมเอกสารในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ซึ่งรายการเอกสารเบื้องต้นจะมีรายการตามด้านล่างนี้ค่ะ แต่ทางเจ่าหน้าที่อาจมีเรียกขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมแล้วแต่ประเภทของโรงงานของท่านค่ะ เช่น รายงานประเมินความเสี่ยง เป็นต้น โดยจัดเตรียมเอกสารทุกอย่างจำนวน 3 ชุด

 รายการเอกสารสำหรับขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

  1. คำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ดาวน์โหลดคำขออนุญาต คลิ๊ก!
  1. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (ในกรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล) คัดสำเนาไม่เกิน 3 เดือน
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
  3. หนังสือมอบอำนาจ
  4. เอกสารแสดงการมีสิทธิ์ใช้ที่ดิน เช่น สำเนาโฉนด
  5. แบบแปลนแผนผังอาคารโรงงาน ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกรควบคุม
  6. แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร รับรองความปลอดภัยโดยวิศวกร
  7. สำเนาหนังสืออนุญาตก่อสร้าง
  8. ขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด
  9. เอกสารอื่นๆตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด เช่น รายงานประเมินความเสี่ยง เป็นต้น

สามารถดูรายละเอียดของเอกสารขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)เพิ่มเติมได้ที่:

https://bit.ly/324X0dz

 

 7. ขั้นตอนในพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

ขั้นตอนพิจารณาขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

หลังจากที่ท่านผู้ประกอบการกรอกข้อมูลในคำขอและเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว ขั้นต่อไปคือการยื่นเอกสารกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมค่ะ โดยยื่นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามจังหวัดที่โรงงานของท่านตั้งอยู่ สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครสามารถยื่นออนไลน์ได้ที่ Online Application Click!  ส่วนขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตโรงงานนั้นใช้เวลาประมาณ 30 วัน โดยมีขั้นตอนเบื้องต้นตามด้านล่างนี้ค่ะ

 ขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตโรงงาน

1. ผู้ประกอบการยื่นคำขอพร้อมเอกสารประกอบ

2. เจ้าหน้าที่พิจารณาความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร

3. เจ้าหน้าที่ลงรับเรื่อง

4. เจ้าหน้าตรวจสอบและพิจารณาการประกอบกิจการ กระบวนการผลิต ทำเลที่ตั้ง การป้องกันเหตุเดือนร้อนรำคาญ และการบำบัดมลพิษ พร้อมจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบ

5. เจ้าหน้าที่แจ้งผลการพิจารณาต่อผู้ประกอบการ หากอนุมัติจึงดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.4 หรือหากไม่อนุมัติผู้ประกอบการมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วันค่ะ

สามารถดูรายละเอียดขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตโรงงานเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.diw.go.th/hawk/data/process/factory.pdf

สามารถดูรายละเอียดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงานได้ที่:

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/062/T_0015.PDF

สามารถดูค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวก ที่ 2 และ โรงงานจำพวกที่ 3 ได้ที่:
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/062/T_0021.PDF

 

โดยสรุป พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2562 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้การประกอบกิจการโรงงานได้รับความสะดวกและมีความคล่องตัวขึ้นโดยเฉพาะความหมายของโรงงานที่ต้องมีเครื่องจักรขนาดตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือหรือคนงาน 50 คน ขึ้นไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆท่านไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตั้งโรงงาน แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการท่านใดต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4 ) แอดมินหวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการและรายการเอกสารประกอบการใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจะเป็นประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อยนะคะ หรือหากมีข้อสงสัยในการเตรียมเอกสารสามารถสอบถามกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมของจังหวัดที่ท่านตั้งอยู่ตามคำแนะนำตอนต้นได้เลยค่ะ เจ้าหน้าที่ทุกท่านยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างแน่นอนค่ะ